เค้าว่ากันว่าโลโก้ไทยทีวีลอกเค้ามา


จากกรณีข่าวทาง Manager Online ได้ลงข่าวว่ามีผู้เขียนบล็อกท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตุว่าโลโก้ไทยทีวีที่ใช้ในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับโลโก้ของสถานีโทรทัศน์รายหนึ่งเป็นอย่างมาก ตามลิงค์นี้นะครับ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9520000115432 ผู้เขียนเองซึ่งเป็นผู้ออกแบบส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัล จึงได้ตอบกระทู้ท้ายข่าวชี้แจงไป โดยคาดหวังว่าผู้อ่านข่าวจะเข้าใจ แม้จะมีคนมาโพสด่าตามมาอยู่เรื่อยๆ ก็ตาม ล่าสุดได้ทราบว่าเรื่องนี้ได้เป็นกระทู้ใน pantip.com แล้ว นอกจากตอบกระทู้ข่าวไปแล้ว ผู้เขียนยังได้ส่งอีเมล์ถึงฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยไปแล้วว่าพร้อมจะชี้แจงทุกเมื่อ แต่ลูกศิษย์ลูกหาก็ได้มาให้คำแนะนำว่าควรจะเขียนชี้แจงอย่างเป็นทางการ เพื่อตอบข้อสงสัยต่างๆ ผู้เขียนจึงได้มาเปิดบล็อกนี้ชี้แจง หวังว่าจะมีคนได้มาอ่านด้วยใจเป็นธรรม ส่วนจะเชื่อหรือไม่คงเป็นเรื่องของท่านผู้อ่านเองนะครับ

ก่อนอื่นขอแนะนำตัวก่อนนะครับ
ผู้เขียนชื่อ นาย อาวิน อินทรังษี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาโทจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน มีตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ และดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย ของคณะมัณฑนศิลป์ เผื่อใครอยากจะตามมาด่า จะได้ตามมาถูกตัวนะครับ :)

เมื่อปี 2551 ผู้เขียนได้รับทราบข่าวการประกวดอัตลักษณ์ของสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส จึงมีความสนใจและได้เข้าร่วมส่งผลงานประกวด ซึ่งในข้อกำหนดจะต้องส่งงาน 2 อย่างคือ ตราสัญลักษณ์ และอินเตอร์ลูท (Interlude) ผู้เขียนจึงได้ชักชวนเพื่อน (นายกิตติพงษ์ มณีเลิศ) ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการทำอนิเมชั่น และกราฟิก 3 มิติ มาร่วมเป็นทีมด้วย โดยใช้ชื่อทีมว่า kitwin โดยได้ส่งแบบเข้าไปประกวด 2 แบบ 1 ในนั้นเป็นแบบที่ได้รับรางวัล

ในโจทย์การประกวดนั้น มีข้อกำหนดอย่างชัดเจนว่าจะต้องมีตัวอักษรภาษาไทยว่า "ไทย" และตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า "Thai PBS" ผู้เขียนจึงได้สรุปว่าโลโก้ที่สถานีต้องการน่าจะเป็นโลโก้ที่เป็นลักษณะของ โลโก้ตัวหนังสือ (logotype) เนื่องจากเป็นสถานีที่เกิดขึ้นใหม่ และต้องการให้คนจดจำชื่อว่า ไทย ได้

สำหรับแนวคิดการออกแบบ ผู้เขียนได้วิเคราะห์สถานการณ์ในตอนนั้นและความเป็นจุดยืนของสถานี เนื่องจากตัวสถานีไทยพีบีเอส เกิดขึ้นจากกรณีปัญหาการครอบงำของกลุ่มทุนและกลุ่มการเมือง และได้กลายมาเป็นทีวีสาธารณะ "ความอิสระ" จึงเป็นคำตอบและกลายเป็นที่มาของแนวคิดในการออกแบบ หากแต่ตัวอักษรเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถสื่อสารแนวคิดนี้ได้ชัดเจนนัก ผู้เขียนจึงได้ค้นหาสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระ ซึ่งก็ได้สรุปว่าน่าจะเป็น "นก" เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นสากล ใคร ๆ ก็เข้าใจได้ง่าย จึงได้ทำการออกแบบร่างเพื่อหาวิธีการผสานระหว่างกราฟิกรูปนก กับตัวอักษรคำว่าไทย จนได้มาเป็นแบบที่สำเร็จที่ส่งเข้าประกวด โดยเน้นตัวอักษรคำว่าไทยเป็นสำคัญ (ตัวอักษรคำว่า ไทย ผู้เขียนสร้างขึ้นมาเอง มิได้ใช้ฟอนท์สำเร็จรูป) ด้านท้ายมีกราฟิกรูปนกบิน ประกอบด้วยเส้นตวัด 3 เส้น และที่หางของตัวอักษร ย ยักษ์ จะถูกเจาะเป็นส่วนหัวของนก เพื่อให้เป็นเสน่ห์และลูกเล่นของการออกแบบ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการออกแบบอัตลักษณ์อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่นป้ายสัญลักษณ์ในอาคาร กราฟิกบนจอโทรทัศน์ และอื่นๆ ส่วนข้อสังเกตุว่าทำไมนกตัวนี้หันหัวไปทางเดียวกันกับนกของสถานีโทรทัศน์อาหรับ ก็ขอเรียนให้ทราบว่าเป็นเหตุผลทางการออกแบบที่กล่าวไปแล้วว่าต้องการให้ส่วนหัวที่เจาะเข้าในตัว ย ยักษ์เป็นลูกเล่น ส่วนเส้นตวัดก็จะตบท้ายคำว่าไทยลงตัวดี จะให้หันไปอีกทางมันก็จะดูไม่ลงตัวนะครับ



การพัฒนาแบบร่าง


แบบที่เสร็จสมบูรณ์ ที่ใช้ในการนำเสนอรอบตัดสิน

ส่วนสาเหตุที่เป็นเส้นตวัด 3 เส้น มีที่มาจากผู้เขียนตั้งใจให้เป็นสีของธงชาติไทย คือสีแดง 2 เส้น และสีน้ำเงิน 1 เส้นตรงกลาง เพื่อสื่อถึงความเป็นชาติไทยด้วย แต่ภายหลังกรรมการได้ให้ความเห็นว่าไม่อยากให้เป็นธงชาติไทย เพราะอาจไปเหมือนกับ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ผู้เขียนจึงเปลี่ยนให้เป็นสีส้มแทน เพราะยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยในขณะนั้นใช้สีนี้ (3 5 7 11 ใช้แม่สีแสง แดง เขียว ฟ้า RGB ยกเว้นช่อง 9 ใช้สีม่วง) และสีส้มก็มีความหมายที่ดี แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ และความอิสระอีกด้วย

ในการประกวด มี 2 รอบคือ รอบคัดเลือก 5 ทีม และรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะต้องมีการ present ให้แก่คณะกรรมการ สำหรับในความคิดส่วนตัวของผู้เขียนเอง ผู้เขียนคิดว่าการนำเสนองานของผู้เขียนค่อนข้างสมบูรณ์กว่าทีมอื่น ส่วนตัวงานออกแบบนั้น ถึงจะไม่ได้ดีที่สุดในโลก แต่ผู้เขียนคิดว่าก็น่าจะดีที่สุดในตอนนั้นในสายตาของกรรมการส่วนใหญ่ เพราะทุกคนคงไม่ได้ชอบเหมือนกันหมด ในความคิดของผู้เขียน ยังมีโลโก้ของอีกทีมหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนและลูกศิษย์ผู้เขียนเอง ยังดูมี Impact มากกว่าโลโก้ของผู้เขียนด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามผลรางวัลก็ได้ออกมาแล้วตามที่ท่านได้ทราบกัน



อินเตอร์ลูทที่ใช้ในการนำเสนอในวันตัดสินรอบสุดท้าย

จากนั้นอีกประมาณ 1 ปี ทางสถานีได้ทำการปรับโลโก้มาเป็นแบบที่ใช้อยู่ปัจจุบัน โดยนำนกขึ้นมาเป็นจุดเด่น ปรับสีส้มให้เข้มขึ้น และเติมคำว่า ทีวีลงไปหน้าตัวอักษรคำว่า "ไทย" แล้วย่อให้เล็กลง และตัดคำว่า ThaiPBS ออก เข้าใจว่าเพื่อไม่ให้คนดูสับสนว่าจะให้เรียกชื่อว่าอะไรกันแน่ ปัจจุบันสถานีนี้จึงใช้ชื่อเรียกว่า ทีวีไทย โดยการปรับปรุงนี้ ทางสถานีมิได้แจ้งมายังผู้เขียนแต่ประการใด ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของทางสถานีที่จะปรับเปลี่ยนอย่างไรก็ได้

สำหรับคำถามว่าก่อนออกแบบ ไม่ได้มีการค้นคว้าหรือว่าสถานีโทรทัศน์อื่นๆ เค้าทำอย่างไรกันบ้าง ก็ขอตอบว่าผู้เขียนได้สืบค้นดูแล้วพอสมควร เพราะไม่อยากให้ทำออกมาแล้วไปซ้ำกับของใครเช่นกัน และส่วนตัวก็ไม่เคยคิดจะลอกของใครเอามาส่งประกวดชิงเงินรางวัล ผู้เขียนทราบดีว่าปัจจุบันโลกของข้อมูลข่าวสารเจริญมาก ใน google มีทุกอย่างที่คนอยากดู ความลับใดๆ ย่อมไม่มีในโลก และคงจะดูไม่ค่อยฉลาดหากไปลอกโลโก้ของสถานีโทรทัศน์อื่นมาอีกต่างหาก บางท่านอาจจะมองว่าโลโก้ของสถานีโทรทัศน์อาหรับเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบของผู้เขียน แต่ขอเรียนให้ทราบว่าผู้เขียนเพิ่งเคยเห็นโลโก้นี้เป็นครั้งแรกในข่าววันนี้เอง

ผู้เขียนมีศักดิ์ศรีของนักออกแบบและความเป็นครูบาอาจารย์ และไม่คิดจะทำลายศักดิ์ศรีของตนด้วยการกระทำที่ผิดศีลธรรมจรรยาใดๆ ปัจจุบันผู้เขียนยังส่งผลงานเข้าประกวดอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งยังได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินการออกแบบต่าง ๆ อยู่เสมอ ในครั้งหนึ่งในการตัดสินงานประกวดที่ผู้เขียนร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน มีผู้เข้าประกวดรายหนึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ และภายหลังก็ได้พบว่าไปคล้ายกับโลโก้ขององค์กรหนึ่งในต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ลำบากใจ ทำให้ผู้เขียนตระหนักในเรื่องแบบนี้เป็นอย่างดี

ผู้เขียนยอมรับว่าตนเองไม่ได้เป็นนักออกแบบที่เก่งกาจ หรือมีความคิดสร้างสรรค์ที่เลอเลิศไปกว่าผู้ใด การเหมือนกันของงานออกแบบย่อมเกิดขึ้นได้ ตอนที่ผู้เขียนทำแบบร่าง ยังเคยส่งแบบที่ส่งเข้าประกวดให้เพื่อนๆ และลูกศิษย์ดู ยังมีคนบอกว่าเหมือนโลโก้สายการบินเหมือนกัน อย่างไรก็ตามก็ขอชี้แจงถึงความบริสุทธิ์ใจมา ณ ที่นี้ และไม่โทษผู้ตั้งข้อสังเกตุและผู้เขียนข่าว เพราะเป็นสิทธิ์ที่ท่านจะทำได้ หากจะผิดก็คือความบังเอิญอย่างร้ายกาจ ที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนและคงจะทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจและรู้ความจริงมองผู้เขียนในทางเสียหาย แต่ก็ขอขอบคุณหลายคนในกระทู้ที่เข้าใจ รวมทั้งเพื่อนๆ และลูกศิษย์หลายคนที่ให้กำลังใจครับ

ความคิดเห็น

  1. มาให้กำลังใจครับ ในฐานะที่เห็นมาตั้งแต่เป็นแบบประกวด

    อ.ม่อน ไอดีจุฬา

    ตอบลบ
  2. มาร่วมยืนยันความบริสุทธ์ของ อาจารย์ อาวิน ครับ

    อ.ณัฐนันทน์ แนวมาลี
    นิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ

    ตอบลบ
  3. อาจารย์อย่าเพิ่งท้อแท้นะคะ เป็นกำลังใจให้จากแดนไกล

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น